เสธหิ หรือ ดร.หิมาลัย ผิวพรรณ คณะที่ปรึกษารองนายกรัฐมนตรี (นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รมว.พลังงาน) พร้อมคณะเดินทางลงพื้นที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน ติดตามการให้ความช่วยเหลือประชาชนในหมู่บ้านที่ไม่มีไฟฟ้าใช้
เมื่อวันที่ 30 ตุลาคม 2566 เวลา 17.00 น.ที่สำนักงานพลังงานแม่ฮ่องสอน กระทรวงพลังงาน โดย ดร.หิมาลัย ผิวพรรณ คณะที่ปรึกษารองนายกรัฐมนตรี (นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาครมว.พลังงาน) พร้อมคณะเดินทางลงพื้นที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน และเข้าร่วมประชุมติดตามการให้ความช่วยเหลือประชาชนในหมู่บ้านที่ไม่มีไฟฟ้าใช้ โดยมี นายจำลอง รุ่งเรือง อดีต สส.แม่ฮ่องสอน พร้อมด้วย นายอำพร วายลม พลังงานจังหวัดแม่ฮ่องสอน นายอภิชาติ ปัญญามูลวงษา นายกองค์การบริหารส่วนตำบลผาบ่อง และ นายอาวุธ ขยันดี นายกองค์การบริหารส่วนตำบลห้วยโป่ง เข้าร่วมประชุมฯ ณ ห้องประชุมสำนักงานพลังงานจังหวัดแม่ฮ่องสอน
จากนั้นได้เดินทางไปตรวจติดตามโครงการติดตั้งระบบสูบน้ำพลังงานแสงอาทิตย์ แบบเคลื่อนที่ของกลุ่มวิสาหกิจชุมชนบ้านห้วยเดื่อเกษตรผสมผสานยั่งยืน หมู่ 3 ต.ผาบ่อง อ.เมือง จ.แม่ฮ่องสอน ซึ่งองค์การบริหารส่วนตำบลผาบ่องจัดหาให้จากงบประมาณกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน กระทรวงพลังงาน เมื่อปี 2565 ที่ผ่านมา
ดร.หิมาลัย ผิวพรรณ กล่าวว่า การเดินทางลงพื้นที่แม่ฮ่องสอนในครั้งนี้ เพื่อติดตามดูแลแก้ไขปัญหา และเร่งผลักดันให้เป็นไปตามนโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ซึ่งมีหลายเรื่องที่พลังงานจังหวัดได้ให้ข้อมูล ทั้งเรื่องหมู่บ้านชุมชนหลายหมู่บ้านยังไม่มีไฟฟ้าใช้ บางหมู่บ้านมีเสา มีสาย แต่ไฟฟ้าเข้าไม่ได้ และการผลิตพลังงานไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์หรือโซล่าเซลล์ เพราะพื้นที่จังหวัดแม่ฮ่องสอนเป็นพื้นที่ป่าสงวน ป่าอุทยาน ป่าอนุรักษ์ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า หากใช้การลากสายไฟฟ้าจากการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคเข้าพื้นที่ ก็มีปัญหาติดเขตป่า เขตอุทยาน และพื้นที่ป่าต่างๆ เพราะต้องใช้พื้นที่ป่าจำนวนมาก ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน มีนโยบายที่จะใช้พลังงานแสงอาทิตย์ ในพื้นที่หมู่บ้านชุมชน โรงเรียน ชุมชนเกษตรกรรมโรงอบพืชผลทางการเกษตร แม้แต่ห้องเย็นที่วิสาหกิจชุมชนมีอยู่แล้ว รวมทั้งไฟฟ้าครัวเรือน จะช่วยลดต้นทุนให้ประชาชน การติดตั้งสะดวก ได้ประโยชน์ เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม นอกจากนี้ยังมีแนวคิดที่จะใช้พลังงานชีวะภาพจากมูลสัตว์ในการผลิตแก๊สหุงต้มในชุมชนอีกด้วย
ดร.หิมาลัย ผิวพรรณ กล่าวต่ออีกว่า "ปัญหาของจังหวัดแม่ฮ่องสอน คือการเดินทาง ในแต่ละพื้นที่อยู่ห่างไกล ยากลำบาก หน้าฝนมีปัญหาในการเดินทางเข้าหมู่บ้านชุมชน แม้แต่การก่อสร้างสิ่งต่างๆ มีหลายพื้นที่ ที่ผู้รับเหมาดำเนินการก่อสร้างไว้ให้กับทางชุมชนแล้วเมื่อเกิดความเสียหายใช้ไม่ได้ก็ไม่ได้เข้าไปซ่อมแซมตามระยะเวลาก็เป็นปัญหา ซึ่งตามนโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานสิ่งใดที่เป็นประโยชน์กับชาวบ้านต้องรีบทำตามหน้าที่ไม่ต้องกลัว ตรงไหนที่ผู้รับเหมาละทิ้งงานหรือไม่มาแก้ไขตามสัญญา ก็ต้องแจ้งให้เขาทราบและปรับเงินค้ำประกันตามสัญญา หรือดำเนินการทางกฎหมายอย่างใดอย่างหนึ่ง ให้ผู้รับเหมามาแก้ไขให้ชาวบ้านเร่งด่วนให้ได้ และโครงการต่างๆ หลังจากที่เราสร้างไปแล้ว ยังมีข้อกฎหมายอยู่อย่างหนึ่ง คือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นไม่สามารถบำรุงรักษาได้ แต่ในเมื่อกฎหมายเป็นเช่นนี้จะให้ชาวบ้านมาตั้งกลุ่มเก็บเงินซ่อมบำรุงรักษากันเองก็จะทำให้การขาดสภาพบังคับ ซึ่งตนจะไปนำเรียนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานอีกครั้งเพื่อหาแนวทางที่จะให้ท้องถิ่นสามารถเก็บค่าบำรุงรักษาหลังจากส่งมอบโครงการไปแล้ว
สำหรับจังหวัดแม่ฮ่องสอน มี 7 อำเภอ 45 ตำบล 415 หมู่บ้าน มีไฟฟ้าใช้ จำนวน 323 หมู่บ้านจากระบบจำหน่ายไฟฟ้า กฟภ.312 หมู่บ้าน จากระบบไฟฟ้าพลังแสงอาทิตย์แบบ MINI GRID จำนวน 11 หมู่บ้าน 3 หย่อมบ้านบริวาร และ ยังไม่มีไฟฟ้าใช้ จำนวน 92 หมู่บ้าน ในจำนวน 92 หมู่บ้านนี้ ตามแผนกระทรวงพลังงานและนโยบายรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน มีแผนการส่งเสริมการมีไฟฟ้าใช้จากพลังงานทดแทนในระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ให้ครบทุกหมู่บ้านที่เหลือ ตั้งแต่ปี 2566-2570 ตามแผนงบประมาณ 5 ปี จังหวัดแม่ฮ่องสอน" ดร.หิมาลัย ผิวพรรณ คณะที่ปรึกษารองนายกรัฐมนตรี กล่าว
No comments:
Post a Comment