วันพฤหัสบดี ที่ 16 พฤศจิกายน พ.ศ.2566 พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล ผบ.ตร. เป็นประธานการแถลงข่าว ร่วมกับ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล รอง ผบ.ตร., พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม,ผศ.ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล แห่งศูนย์นิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์,ผู้แทนคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ,ผู้แทนจากกรมการจัดหางาน,ประธานกรรมการหอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ณ ห้องสารสิน ชั้น 2 อาคาร 1 (ส่วนหน้า)
ด้วยปรากฏว่าปัจจุบัน หน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชนให้ความสำคัญต่อการตรวจสอบประวัติของบุคคลจำนวนมาก เพื่อคัดกรองบุคคลเข้าทำงานในหน่วยงาน องค์กร/บริษัทของตน โดยประชาชนต้องแสดงผลการตรวจสอบประวัติอาชญากรรมประกอบในการสมัครงาน เพื่อหารายได้มาดำรงชีพ ซึ่งมีประชาชนจำนวนมากที่เคยมีประวัติถูกดำเนินคดีอาญา แต่ศาลพิพากษายกฟ้อง พนักงานอัยการสั่งไม่ฟ้อง จะยังมีประวัติอาชญากรรมอยู่ในฐานข้อมูลของกองทะเบียนประวัติอาชญากร ทำให้ถูกตัดสิทธิ ไม่ได้รับการพิจารณาเข้าทำงาน ขาดโอกาสในการหางาน ประกอบอาชีพ กลับไปใช้ชีวิตใหม่เฉกเช่นประชาชนทั่วไปทำให้ขาดรายได้ และอาจทำให้ต้องก่ออาชญากรรม
เพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผบ.ตร. ในขณะนั้น จึงได้มอบหมายให้ พล.ต.ท.สุรเชษฐ์ หักพาล ผู้ช่วย ผบ.ตร.(ยศและตำแหน่งในขณะนั้น) เข้ามาจัดทำโครงการเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว ซึ่งจากการตรวจสอบข้อมูลเบื้องต้น พบว่ามีรายการที่ยังไม่เคยมีการรายงานผลคดีถึงที่สุดในฐานข้อมูลกองทะเบียนประวัติอาชญากร จำนวนกว่า 13 ล้านรายการ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ฯ จึงได้มีการประชุมเร่งรัดติดตามผลคดีถึงที่สุดเป็นประจำทุกเดือน ภายในระยะเวลา 1 ปีเศษ สามารถลบหรือคัดแยกประวัติอาชญากรรมให้แก่บุคคลที่เข้าหลักเกณฑ์ตามระเบียบขณะนั้นได้ จำนวนประมาณ 2 ล้านรายการ เทียบเท่ากับที่เคยทำมาตลอดระยะเวลา 10 ปี ก่อนเริ่มโครงการ
ต่อมา พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผบ.ตร. ได้มอบหมายให้ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล รอง ผบ.ตร. กำกับ ดูแล ปรับปรุง แก้ไขระเบียบสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ว่าด้วยประมวลระเบียบการตำรวจ ไม่เกี่ยวกับคดี ลักษณะที่ 32 การพิมพ์ลายนิ้วมือ พ.ศ.2561 โดยสำนักงานตำรวจแห่งชาติได้ร่วมกับศูนย์นิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ปรับปรุงแก้ไขระเบียบสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ว่าด้วยประมวลระเบียบการตำรวจไม่เกี่ยวกับคดี ลักษณะที่ 32 การพิมพ์ลายนิ้วมือ พ.ศ.2566 ซึ่งได้ลงนามและมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม พ.ศ.2566 ให้สอดคล้องกับบทบัญญัติรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย
พ.ศ.2560 มาตรา 29 วรรคสอง ซึ่งเป็นไปตามหลักสันนิษฐานไว้ก่อนว่าบริสุทธิ์ หรือ Presumption Of Innocence ว่าในคดีอาญาหากไม่มีคำพิพากษาถึงที่สุด ให้สันนิษฐานว่าผู้ต้องหาหรือจำเลยไม่มีความผิดโดยมีการปรับปรุง
การจัดเก็บประวัติบุคคลออกเป็น 3 ทะเบียน ได้แก่ 1) ทะเบียนประวัติผู้ต้องหา 2) ทะเบียนประวัติอาชญากร 3) ทะเบียนประวัติผู้กระทำความผิดที่มิใช่อาชญากร และปรับปรุงหลักเกณฑ์การถอนประวัติออกจากฐานข้อมูลของกองทะเบียนประวัติอาชญากรเป็น 9 ข้อ คือ มีคำสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้อง,ยกฟ้อง,มีกฎหมายยกเลิกความผิดนั้น,ผู้เสพยาเสพติดที่ผ่านการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดที่มีผลเป็นที่น่าพอใจ,ผู้ที่ได้รับการนิรโทษกรรม,มีกฎหมายล้างมลทิน,ได้รับการอภัยโทษ,ไม่มีการกระทำความผิดซ้ำภายใน 20 ปี,ผู้ต้องหาเป็นเด็กหรือเยาวชน,มีคำพิพากษาใหม่ว่ามิใช่ผู้กระทำความผิด และคดีขาดอายุความ เพื่อปรับปรุงฐานข้อมูลประวัติอาชญากรให้เป็นปัจจุบัน ผลการแบ่งทะเบียนในการจัดเก็บข้อมูลและหลักเกณฑ์การคัดแยกประวัติอาชญากรรมตามระเบียบนี้ ทำให้มีบุคคลที่มีชื่ออยู่ในทะเบียนประวัติอาชญากรเพียง 3,729,173 ราย จากทั้งหมด 13,051,234 ราย สามารถคืนสิทธิให้กับประชาชนจากโครงการนี้จำนวนกว่า 9.3 ล้านคน ในขณะเดียวกันยังสามารถใช้ข้อมูล เพื่ออำนวยความยุติธรรมในการดูแลรักษาความสงบเรียบร้อย ตามอำนาจหน้าที่ และกฎหมายที่เกี่ยวข้องได้ เพื่อประโยชน์สุขของสังคมส่วนรวมและประเทศชาติ
ขณะนี้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้ปรับปรุงการให้บริการประชาชนในการตรวจสอบคุณสมบัติว่าเป็นผู้ที่อยู่ในโครงการลบประวัติ ล้างความผิด คืนชีวิตให้ประชาชนหรือไม่ ผ่านเว็บไซต์ www.crd-check.com เมื่อท่านมีชื่ออยู่ในโครงการ หมายความว่าประวัติอาชญากรรมของท่านได้ถูกทำการคัดแยกและถอนประวัติเรียบร้อยแล้ว
No comments:
Post a Comment