วช. ร่วมกับภาคีเครือข่ายขับเคลื่อนประเทศไทย “เริ่มด้วยใจ เปลี่ยนผ่านไทยสู่ชุมชนคาร์บอนต่ำ” - สำนักข่าวพิมพ์ไทย | www.phimthai.com

Breaking

Home Top Ad

Post Top Ad

Search This Blog

Thursday, February 15, 2024

วช. ร่วมกับภาคีเครือข่ายขับเคลื่อนประเทศไทย “เริ่มด้วยใจ เปลี่ยนผ่านไทยสู่ชุมชนคาร์บอนต่ำ”

เมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2567 สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ร่วมกับ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีไทย-ญี่ปุ่น กรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม และองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) พร้อมทั้งผู้แทนองค์กรระหว่างประเทศ United Nations Industrial Development Organization (UNIDO) และ Japan International Cooperation Agency (JICA) จัดสัมมนาวิชาการ เรื่อง “เริ่มด้วยใจ เปลี่ยนผ่านไทยสู่ชุมชนคาร์บอนต่ำ” เป็นกิจกรรมภายใต้โครงการคุณธรรมในสังคมไทยท่ามกลางกระแสสังคมคาร์บอนต่ำในมิติชุมชนและมิตินโยบาย ซึ่งได้รับการสนับสนุนทุนวิจัยจาก (วช.) โดย ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (ผอ.วช.) เป็นประธานกล่าวเปิดงาน โดยมี Mr. Kazuya Suzuki Chief Representative, JICA Thailand Office กล่าวแสดงความยินดี
พร้อมนี้ มีการกล่าวปาฐกถา ในเรื่อง “การขับเคลื่อนชุมชนคาร์บอนต่ำของไทย” โดย นายปวิช เกศววงศ์ รองอธิบดีกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม พร้อมด้วยการเสวนา เรื่อง “เริ่มด้วยใจ เปลี่ยนผ่านไทยสู่ชุมชนคาร์บอนต่ำ” โดย พระมหานภันต์ สนฺติภทฺโท ผู้ช่วยเจ้าอาวาส วัดสระเกศราชวรมหาวิหาร ประธาน มูลนิธิสถาบันการจัดการวิถีพุทธเพื่อสุขและสันติ ดร.อนุสนธิ์ ชินวรรโณ ผู้ทรงคุณวุฒิ คณะกรรมการนโยบายการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแห่งชาติ ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการต่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศ และ รศ.ดร.สุนิดา อรุณพิพัฒน์ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (หัวหน้าชุดโครงการ) ดำเนินการเสวนาโดย คุณศรันย์ภัทร์ เกษมชยวิวัฒน์ ผู้ประกาศข่าวไทยรัฐทีวี ณ ห้องประชุมจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ อาคาร วช.1
ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (ผอ.วช.) กล่าวว่า งานสัมมนา “เริ่มด้วยใจ เปลี่ยนผ่านไทยสู่ชุมชนคาร์บอนต่ำ” ซึ่งเป็นกิจกรรมภายใต้โครงการคุณธรรมในสังคมไทยท่ามกลางกระแสสังคมคาร์บอนต่ำในมิติชุมชนและมิตินโยบาย ที่ได้รับการสนับสนุนจาก (วช.) โดยงานสัมมนาในวันนี้มุ่งหวังให้เกิดการขับเคลื่อนประเทศสู่สังคมคาร์บอนต่ำด้วยคุณธรรมของไทยเน้นบทบาทของชุมชนเป็นสำคัญ ซึ่งถือเป็นกลไกที่มีพลัง มีศักยภาพ และมีเอกลักษณ์ ปัจจุบันทั่วโลกมีความตื่นตัวเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งประเทศไทยได้แสดงวิสัยทัศน์อย่างมุ่งมั่นในการประชุมสมัชชาประเทศภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือ การประชุม COP ครั้งที่ 26 เมื่อปี พ.ศ.2564 โดยประกาศตั้งเป้าหมายจะเป็นกลางทางคาร์บอนในปี พ.ศ.2593 และปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ภายในปี พ.ศ.2608 ที่มุ่งหวังให้คนในสังคม และชุมชน “ร่วมมือ ร่วมใจ ร่วมด้วยช่วยกัน” ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในทุกรูปแบบ มีการเชื่อมโยงกับมิติ “คุณธรรม”เพื่อเป็นเครื่องมือกระตุ้น ให้ชุมชนและทุกภาคส่วนสามารถ “เริ่มต้นด้วยใจ” ในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อรักษาสิ่งแวดล้อมและสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น โดยทีมนักวิจัยทำหน้าที่เสมือนเป็น “ตัวกลางขับเคลื่อน” ในการบูรณาการความร่วมมือจากทุกภาคส่วน และเป็นการแสดงพลังของประเทศไทยในฐานะพลเมืองโลกต่อการมีส่วนร่วมแก้ไขปัญหาด้านเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศต่อประชาคมโลก
นายปวิช เกศววงศ์ รองอธิบดีกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า การขับเคลื่อนชุมชนคาร์บอนต่ำของไทย ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศที่เกิดขึ้นรวดเร็ว ซึ่งมีความท้าทาย
จากทั้งการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่างๆ โดยเฉพาะคาร์บอนไดออกไซด์ และการเตรียมปรับตัวให้เข้ากับสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงไป โดยงานวิจัยและนวัตกรรมจะสามารถเข้ามามีส่วนช่วยเพื่อแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นและสามารถเป็นข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย นอกจากนี้ประเทศไทยมีความจำเป็นที่จะต้องเร่งลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงให้เร็วกว่าเป้าหมายที่มีอยู่ในปัจจุบัน เครือข่ายชุมชนต้นแบบที่เกิดขึ้นจะเป็นพลังสำคัญในการเปลี่ยนแปลงสังคมไทยไปสู่ชุมชนคาร์บอนต่ำ ควบคู่ไปกับการลดผลกระทบด้านสุขภาพของคนไทยที่เกิดขึ้นจากมลพิษต่างๆ ให้ดีได้ยิ่งขึ้นหวังเป็นอย่างยิ่งว่างานวิจัยครั้งนี้จะสามารถนำไปสู่การขยายผลต่อไปในอนาคต
รศ.ดร.สุนิดา อรุณพิพัฒน์ หัวหน้าชุดโครงการ กล่าวว่า การสัมมนาในครั้งนี้ จัดขึ้นเพื่อสนับสนุนการแบ่งปันความรู้จากผู้เชี่ยวชาญ โดยมุ่งหวังให้เกิดการขับเคลื่อนประเทศสู่สังคมคาร์บอนต่ำ ซึ่งเน้นบทบาทของชุมชนเป็นสำคัญในการแลกเปลี่ยนข้อมูลเกี่ยวกับงานวิจัยการนำเสนอผลงานต้นแบบชุมชนคาร์บอนต่ำ จากผู้เชี่ยวชาญทั้งในและต่างประเทศในการยกระดับชุมชนไทยให้สามารถขับเคลื่อนไปสู่เป้าหมายประเทศที่ผูกพันไว้ในเวทีสากล รวมไปถึงการสร้างโอกาสพัฒนาเครือข่ายความร่วมมือระหว่างนักวิจัย สถาบันและองค์กรที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชน





ถัดมา ดร.วิภารัตน์ฯ ได้มอบประกาศนียบัตรต้นแบบชุมชนคาร์บอนต่ำที่เข้าร่วมโครงการดังกล่าว แก่หน่วยงานต้นแบบ จำนวน 6 แห่ง ได้แก่ สำนักสิ่งแวดล้อม กรุงเทพมหานคร เครือข่ายอาสาสมัครพิทักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทสม.) กรุงเทพมหานคร,สมุทรสงคราม,สระบุรี,พิจิตร และระนอง
ทั้งนี้ การสัมมนาฯ ได้รับการตอบรับอย่างดี จากหน่วยงานภาครัฐและเอกชน โดย (วช.) มุ่งหมายให้กิจกรรม “เริ่มด้วยใจ เปลี่ยนผ่านไทยสู่ชุมชนคาร์บอนต่ำ” จะสร้างพื้นที่สำหรับการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ สร้างโอกาสในการพัฒนางานวิจัยและนวัตกรรม และก่อให้เกิดการสนับสนุนความร่วมมือระหว่างผู้เชี่ยวชาญ นักวิจัย และผู้ที่เกี่ยวข้อง ในสหสาขาวิชาต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ต่อไป








No comments:

Post a Comment

Post Bottom Ad



Pages