วันที่ 5 พฤศจิกายน 2567 นายพันธ์ทอง ลอยกุลนันท์ ที่ปรึกษาด้านการพัฒนาและบริหารการจัดเก็บภาษี
ในฐานะโฆษกกรมศุลกากร เปิดเผยว่า ตามนโยบายของนางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ที่ให้ความสำคัญกับการป้องกันและปราบปรามการลักลอบนำเข้า - ส่งออก นำผ่าน และจำหน่ายยาเสพติด เพี่อป้องกันอันตรายที่จะเกิดขึ้นกับประชาชน กระทรวงการคลัง โดย นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และนายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง จึงสั่งการให้กรมศุลกากร เข้มงวดกวดขันในเรื่องดังกล่าว ทั้งนี้ นายธีรัชย์ อัตนวานิช อธิบดีกรมศุลกากร ได้กำชับให้เจ้าหน้าที่ศุลกากรเฝ้าระวังและเร่งปราบปรามการลักลอบนำเข้ามาในและส่งออกไปนอกราชอาณาจักรซึ่งยาเสพติดในทุกช่องทาง เพื่อปกป้องสังคมไทย
จากการวิเคราะห์ข้อมูลทางการข่าวและการแลกเปลี่ยนข้อมูลในด้านการป้องกันการลักลอบขนยาเสพติดกับหน่วยงานบังคับใช้กฎหมายต่างประเทศพบว่ามีการตรวจยึดจับกุมช่อดอกกัญชาโดยมีต้นทางจากประเทศไทยจำนวนมากในช่วงปี 2567 กรมศุลกากรจึงได้ร่วมกับชุดปฏิบัติการสกัดกั้นยาเสพติดผ่านท่าอากาศยาน (Airport Interdiction Task Force : AITF) ประกอบด้วย สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) และ กองบัญชาการตำรวจปราบปรามยาเสพติด (บช. ปส.) เฝ้าระวังและติดตามตรวจสอบการลักลอบส่งออก–นำเข้ากัญชาผ่านท่าอากาศยานอย่างต่อเนื่อง โดยเมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2567 พบชายชาวมาเลเซีย ลักลอบนำช่อดอกกัญชา น้ำหนักประมาณ 19 กิโลกรัม ซุกซ่อนในกระเป๋าสัมภาระซึ่งจะเดินทางจากท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ประเทศไทย ไปยังสาธารณรัฐสิงคโปร์ ปลายทางประเทศอิตาลี ต่อมา เมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน 2567 พบชายและหญิงชาวมาเลเซีย ลักลอบนำช่อดอกกัญชา น้ำหนักประมาณ 70 กิโลกรัม ซุกซ่อนในกระเป๋าสัมภาระ 4 ใบ ณ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ โดยมีเส้นทางการเดินทางจากประเทศไทย ไปยังสาธารณรัฐสิงคโปร์ ปลายทางประเทศอังกฤษ รวมน้ำหนักช่อดอกกัญชาจากผู้ต้องหาทั้ง 2 กรณี ประมาณ 89 กิโลกรัม มูลค่ากว่า 890,000 บาท ซึ่งหากลักลอบส่งออกยังประเทศในแถบทวีปยุโรปสำเร็จ ราคาจะสูงถึงกิโลกรัมละ 10,000 ปอนด์ หรือประมาณ 39 ล้านบาท โดยจากการสอบปากคำผู้ต้องหาเบื้องต้น ได้ข้อมูลว่า ผู้ต้องหารายแรก จะเดินทางไปยังประเทศอิตาลี โดยมีเพื่อนให้มาขนรังนกจากประเทศไทยไปยังประเทศอิตาลี เสนอที่จะออกเงินค่าท่องเที่ยวที่ประเทศอิตาลีให้ ส่วนผู้ต้องหารายที่ 2 และ 3 มีเพื่อนในอินเตอร์เน็ตชักชวนเดินทางไปประเทศอังกฤษ โดยให้แวะรับของที่ประเทศไทย และจะดูแลเรื่องการท่องเที่ยวที่ประเทศอังกฤษให้ เช่นกันการกระทำดังกล่าว เป็นความผิดฐานพยายามนำออกไปนอกราชอาณาจักรซึ่งของที่ยังมิได้ผ่านพิธีการศุลกากร ตามมาตรา 242 252 ประกอบมาตรา 166 และ 167 แห่งพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ.2560 และเป็นความผิดตามมาตรา 78 ประกอบมาตรา 46 แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองและส่งเสริมภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทย พ.ศ.2542 และประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง สมุนไพรควบคุม (กัญชา) พ.ศ.2565 ประกาศ ณ วันที่ 11 พฤศจิกายน 2565 โดยช่อดอกกัญชาเป็นของต้องกำกัดตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง สมุนไพรควบคุม (กัญชา) พ.ศ.2565โดยที่ผ่านมากรมศุลกากรให้ความสำคัญกับการจับกุมการลักลอบนำเข้า–ส่งออกกัญชาในทุกช่องทาง มีสถิติในการจับกุมกัญชา ช่อดอกกัญชา ต้นกัญชา น้ำมันกัญชา ยางกัญชาและเมล็ดกัญชา ในปีงบประมาณ 2567 จับกุมได้ 462 คดี ปริมาณ 3,094 กิโลกรัม มูลค่ากว่า 30.94 ล้านบาท และในปีงบประมาณ 2568 (1 ตุลาคม 2567–4 พฤศจิกายน 2567) จับกุมได้ 43 คดี ปริมาณ 234.70 กิโลกรัม มูลค่ากว่า 2.347 ล้านบาทโฆษกกรมศุลกากร กล่าวต่ออีกว่า ในปัจจุบันพบว่ามีการหลอกลวงให้ประชาชนนำสิ่งของออกไปนอกราชอาณาจักรโดยจะให้ค่าตอบแทน โดยไม่ทราบว่าของดังกล่าวอาจมียาเสพติดหรือสิ่งผิดกฎหมายซุกซ่อนอยู่
กรมศุลกากรจึงขอเตือนประชาชน อย่าตกเป็นเหยื่อของขบวนการลักลอบขนยาเสพติดและสิ่งผิดกฎหมาย โดยไม่หลงเชื่อคำชักชวนที่ไม่สมเหตุสมผล เช่น การชักชวนไปท่องเที่ยวต่างประเทศโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย และไม่ควรรับฝากสิ่งของจากบุคคลอื่นโดยเด็ดขาด แม้ว่าจะตรวจสอบสิ่งของในสัมภาระแล้วก็ตาม เพราะขบวนการลักลอบขนยาเสพติดและสิ่งผิดกฎหมายมีความเชี่ยวชาญในการซุกซ่อนเป็นอย่างดี หากมีการตรวจสอบพบยาเสพติด หรือสิ่งผิดกฎหมายท่านก็จะถูกดำเนินคดีตามกฎหมายด้วยเช่นกัน
No comments:
Post a Comment