สวทช. โดยเนคเทค โชว์ Pathumma LLM: เทคโนโลยี AI ที่เข้าใจบริบทและวัฒนธรรมไทย สู่การพัฒนาและการใช้งานที่หลากหลาย - สำนักข่าวพิมพ์ไทย | www.phimthai.com

Breaking

Home Top Ad

Post Top Ad

Search This Blog

Friday, March 21, 2025

สวทช. โดยเนคเทค โชว์ Pathumma LLM: เทคโนโลยี AI ที่เข้าใจบริบทและวัฒนธรรมไทย สู่การพัฒนาและการใช้งานที่หลากหลาย

วันที่ 21 มีนาคม 2568 : สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โดย ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) ภายใต้กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) จัดกิจกรรม NSTDA x Press Interviews เรื่อง Pathumma LLM : เทคโนโลยี AI ที่เข้าใจบริบทและวัฒนธรรมไทย วิจัยและพัฒนาโดย ดร.ศราวุธ คงยัง นักวิจัยกลุ่มนวัตกรรมการผลิตยั่งยืน และทีมวิจัยเนคเทค สวทช. ซึ่ง "Pathumma LLM" (ปทุมมา แอลแอลเอ็ม) เป็นการสร้างเทคโนโลยีเอไอ สัญชาติไทย ที่มี 3 ความสามารถหลัก ได้แก่ Text LLM สำหรับประมวลผลภาษาไทย  Vision LLM สำหรับวิเคราะห์และเข้าใจภาพ และ Audio LLM สำหรับจดจำและตอบสนองต่อเสียงภาษาไทย ที่สำคัญระบบถูกพัฒนาแบบ Open Source เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ร่วมกัน และขับเคลื่อนการพัฒนาเทคโนโลยี AI ของไทย โดยเปิดให้ภาคส่วนต่างๆ ที่สนใจเข้ารับชมเทคโนโลยีดังกล่าวและร่วมแลกเปลี่ยนกับทีมวิจัยได้ฟรี ในงานประชุมวิชาการประจำปี สวทช. ครั้งที่ 20 หรือ NAC2025 วันที่ 26-28 มีนาคมนี้ ที่ อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี
ดร.ศราวุธ คงยัง นักวิจัยกลุ่มนวัตกรรมการผลิตยั่งยืน เนคเทค สวทช. เปิดเผยว่า ในยุคของการพัฒนาเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) ที่กำลังเติบโตอย่างรวดเร็ว "Pathumma LLM" (ปทุมมา แอลแอลเอ็ม) ถือเป็นก้าวสำคัญที่ประเทศไทยได้นำเสนอเทคโนโลยี AI สัญชาติไทย เพื่อสนับสนุนการขับเคลื่อนระบบบริการ AI โดยเฉพาะในบริบทของประเทศไทยที่มีความเฉพาะตัวทั้งด้านภาษาและวัฒนธรรม โดยจุดเด่นของ Pathumma LLM Pathumma LLM เป็นโมเดล AI ที่พัฒนาให้รองรับการประมวลผลข้อมูลได้หลายรูปแบบ ทั้งข้อความ (Text LLM), เสียง (Audio LLM) และภาพ (Vision LLM) เพื่อการใช้งานที่ครอบคลุมและหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นการประมวลผลคำถามและคำสั่งจากข้อความ การแปลงเสียงเป็นข้อความ และการวิเคราะห์ภาพ ซึ่งสามารถนำไปใช้ประโยชน์ในหลากหลายด้าน เช่น การให้บริการแชตบอตในภาครัฐหรือเอกชน การถอดความจากเสียงในการประชุม หรือการสร้างคำบรรยายภาพในงานวิจัย โดยล่าสุดหน่วยงานรัฐอย่างรัฐสภา นำไปใช้ประโยชน์แล้ว เพื่อให้บริการข้อมูลกับประชาชนที่ขอใช้บริการต่างๆ ทั้งการสรุปประชุมสำคัญของสภา สรุป (ร่าง) กฎหมายต่างๆ ที่ผ่านสภา เป็นต้น   

นอกจากนี้ประโยชน์ที่ประชาชนจะได้รับการพัฒนา Pathumma LLM คือ จะช่วยให้ประชาชนได้รับประโยชน์จากเทคโนโลยี AI ที่มีความแม่นยำและสอดคล้องกับการใช้ภาษาไทยและบริบทของประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็นการสอบถามข้อมูลหรือการสืบค้นข้อมูลในแอปพลิเคชันต่าง ๆ รวมถึงการใช้งานในองค์กรภาครัฐที่ต้องการปกปิดข้อมูล เช่น ธนาคาร หรือสถานพยาบาล

ดร.ศราวุธฯ กล่าวต่อว่า สำหรับทิศทางในอนาคต ทีมวิจัยมีแผนที่จะพัฒนาโมเดลพื้นฐาน (Foundation Model) ที่มีขนาดใหญ่ขึ้น โดยคาดว่าจะเริ่มใช้งานได้ในปี 2568 นี้  ซึ่งจะช่วยเพิ่มศักยภาพในการรองรับข้อมูลและทำให้ Pathumma LLM มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นในการให้บริการแก่ภาครัฐและเอกชน นอกจากนี้ยังมีแผนที่จะพัฒนาให้ Pathumma LLM กลายเป็น "Agentic AI" ผู้ช่วย AI อัจฉริยะ ที่สามารถคิด วิเคราะห์ และตัดสินใจได้อย่างอัตโนมัติ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานและบริการให้กับผู้ใช้ในอนาคต ผู้ที่สนใจทดลองใช้งาน Pathumma LLM เวอร์ชัน 1.0 ทั้งในรูปแบบ APP, API และ Model เข้าใช้งานได้ที่ https://aiforthai.in.th/pathumma-llm/ 

“Pathumma LLM ไม่เพียงแค่เป็นเทคโนโลยีที่สร้างสรรค์และพัฒนาโดยคนไทย แต่ยังเป็นเครื่องมือที่จะช่วยขับเคลื่อนการพัฒนาในหลากหลายภาคส่วน โดยเฉพาะในภาครัฐและเอกชนที่ต้องการระบบบริการที่มีประสิทธิภาพและตอบโจทย์ความต้องการเฉพาะของประเทศไทย และยังให้ความสำคัญกับความปลอดภัย และเพื่อประโยชน์ลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงเทคโนโลยี AI ของสังคมไทย เกิดประโยชน์ทั้งภาคเอกชน ภาคอุตสาหกรรม ภาครัฐบาล และประชาชนทั่วไป” ดร.ศราวุธ กล่าว

ทั้งนี้ทีมวิจัยขอเชิญชวนประชาชนและภาคส่วนต่างๆ ที่สนใจเข้าร่วมสัมผัสเทคโนโลยีดังกล่าวและร่วมแลกเปลี่ยนกับทีมวิจัยได้ฟรี ในงานประชุมวิชาการประจำปี สวทช. ครั้งที่ 20 หรือ NAC2025 วันที่ 26-28 มีนาคมนี้ โดย ในวันที่ 28 มีนาคม จะมีการสัมมนา เรื่องศักยภาพ Thai LLM และความท้าทายของโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล เวลา 13.00-16.00 น. ที่ห้อง SD-601 อาคาร 12 (สราญวิทย์) อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย คลองหลวง จ.ปทุมธานี ลงทะเบียนร่วมงานได้ที่ www.nstda.or.th/nac/ สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม โทร. 0 2564 8000








No comments:

Post a Comment

Post Bottom Ad



Pages