เมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2568 ณ อ.เกาะสมุย จ.สุราษฏร์ธานี : นางสาวศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม นำคณะผู้บริหารระดับสูง (อว.) ประกอบด้วย ศ.ดร.ศุภชัย ปทุมนากุล ปลัดกระทรวง (อว.),ศ.นพ.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ประธานกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และผู้บริหารระดับสูงของ (อว.) จากหน่วยงานราชการ รัฐวิสาหกิจ องค์การมหาชนและมหาวิทยาลัย เข้าร่วมตรวจเยี่ยมโครงการ “ธนาคารปูม้า : เครื่องมือการบริหารจัดการทรัพยากรชายฝั่งเพื่อใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืน” ภายใต้โครงการขยายผลธนาคารปูม้าเพื่อ “คืนปูม้าสู่ทะเลไทย” ซึ่งมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ได้รับการสนับสนุนการวิจัยและนวัตกรรมจาก (วช.) ในการดำเนินงาน ณ ธนาคารปูม้าชุมชนอิสลามหัวถนน อ.เกาะสมุย จ.สุราษฏร์ธานี
พร้อมกันนี้ ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (ผอ.วช.) และศาสตราจารย์ ดร.สมบัติ ธำรงธัญวงศ์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ พร้อมด้วยคณะผู้วิจัย คณะผู้ทรงคุณวุฒิ (วช.) ผู้บริหาร (วช.) และ ผู้นำชุมชน ให้การต้อนรับและนำการตรวจเยี่ยมงานธนาคารปูม้าและผลิตภัณฑ์จากการดำเนินงาน
นางสาวศุภมาส อิศรภักดี รมว.อว. กล่าวว่า จากการตรวจเยี่ยมโครงการธนาคารปูม้าในครั้งนี้ ได้เห็นความก้าวหน้าและความสำคัญในการส่งเสริมและถ่ายทอดความรู้เทคโนโลยีและนวัตกรรมแก่เกษตรกรและชาวประมงเกี่ยวกับการดำเนินการธนาคารปูม้า โดยเฉพาะในด้านการเพิ่มผลผลิตและการอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเล โครงการนี้มีศักยภาพในการขยายผลในอนาคต หากสามารถส่งเสริมให้ชุมชนประมงทุกแห่งเข้าถึงความรู้และเทคโนโลยี สามารถขยายไปถึงการเพาะเลี้ยงและอนุรักษ์สัตว์ทะเลอื่นๆ ที่มีความสำคัญต่อระบบนิเวศและเศรษฐกิจของท้องถิ่น ซึ่งจะช่วยเสริมสร้างความยั่งยืนในการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ และกระตุ้นการพัฒนาเศรษฐกิจในระดับชุมชนและประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (ผอ.วช.) กล่าวว่า โครงการขยายผลธนาคารปูม้าเป็นตัวอย่างสำคัญในการนำองค์ความรู้จากการวิจัยและนวัตกรรมไปใช้ประโยชน์จริงในพื้นที่ชุมชนชายฝั่ง โดยเฉพาะในจังหวัดสุราษฎร์ธานีและจังหวัดใกล้เคียง ซึ่งได้ดำเนินการขยายธนาคารปูม้าไปแล้วกว่า 565 แห่ง นอกจากนี้ยังมีการจัดตั้งศูนย์การเรียนรู้เพื่อถ่ายทอดความรู้ในการอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรชายฝั่งทะเล รวมถึงการสร้างเครือข่ายความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และชุมชนในการส่งเสริมกิจกรรมฟื้นฟูทรัพยากรทางทะเลอย่างยั่งยืน โดยได้รับความร่วมมือจาก 15 หน่วยงาน ได้แก่ กรมประมง,มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์,มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย,มหาวิทยาลัยทักษิณ,มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์,มหาวิทยาลัยศิลปากร วิทยาเขตสารสนเทศเพชรบุรี,มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์,มหาวิทยาลัยแม่โจ้-ชุมพร,มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลตะวันออก,มหาวิทยาลัยราชภัฏรำไพพรรณี,จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย,มหาวิทยาลัยบูรพา วิทยาเขตจันทบุรี,มหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ต,สมาคมพลังงานทดแทนเพื่อความยั่งยืน และมูลนิธิความร่วมมือทางเศรษฐกิจไทย-แคนาดา การขยายผลโครงการธนาคารปูม้า ช่วยฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติ และเป็นการสร้างโอกาสในการพัฒนาศักยภาพการผลิตบริเวณชายฝั่งอย่างยั่งยืน
โครงการดังกล่าวสามารถเพิ่มผลผลิตปูม้าในแหล่งธรรมชาติ สร้างความมั่นคงทางอาหารและอาชีพให้กับชาวประมง โดยมุ่งเน้นการพัฒนาเศรษฐกิจสีน้ำเงินและการสร้างรายได้ให้กับชุมชน ประกอบกับการส่งเสริมการท่องเที่ยวในพื้นที่ประมงชายฝั่งอย่างยั่งยืน ทั้งนี้ยังได้มีการประเมินผลกระทบของโครงการในด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ซึ่งสามารถวัดผลสำเร็จได้อย่างชัดเจนจากการเพิ่มขึ้นของปริมาณการจับปูม้าและมูลค่าการขายที่เติบโตอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2562 เป็นต้นมา
No comments:
Post a Comment