สมาคมข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ร่วมประชุมกับ บช.น.เพื่อกำหนดแนวปฏิบัติของสื่อฯภาคสนาม กับการชุมนุมฯ - สำนักข่าวพิมพ์ไทย | www.phimthai.com

Breaking

Home Top Ad

Post Top Ad

Search This Blog

Friday, June 27, 2025

สมาคมข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ร่วมประชุมกับ บช.น.เพื่อกำหนดแนวปฏิบัติของสื่อฯภาคสนาม กับการชุมนุมฯ

เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2568 ที่สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย นางอุษา มีชารี อุปนายกฝ่ายสิทธิเสรีภาพและการปฏิรูปสื่อ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ได้นำคณะตัวแทนสมาคมนักข่าวฯ ประกอบด้วย นายชำนาญ ไชยศร อุปนายกฝ่ายกิจกรรมพิเศษ กรรมการสมาคมนักข่าวฯ,นายวิษณุ นุ่นทอง กรรมการสมาคมนักข่าวฯ และอนุฯฝ่ายสิทธิ์,นายสุเมธ สมคะเน เลขาธิการสหภาพแรงงานกลางสื่อมวลชนไทย และคณะอนุกรรมการฝ่ายสิทธิเสรีภาพและการปฏิรูปสื่อ และดร.โศภชา เอี่ยมโอภาส อนุฯฝ่ายสิทธิ์ เดินทางเข้าพบ พล.ต.ท.สยาม บุญสม ผบช.น.,พล.ต.ต.ธีรเดช ธรรมสุธีร์ รองผบช.น. และ พล.ต.ต.อัฏธพร วงศ์ศิริปรีดา  ผบก.น.1  ที่กองบัญชาการตำรวจนครบาล เมื่อวันที่ 26 มิ.ย.2568 ที่ผ่านมา เพื่อทำความเข้าใจแนวทางการปฎิบัติร่วมกันต่อการทำหน้าที่ของสื่อมวลชน กรณีกลุ่มมวลชนในนาม "คณะรวมพลังปกป้องอธิปไตย" นัดชุมนุมใหญ่เรียกร้องให้ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรีลาออกจากตำแหน่ง ในวันที่ 28 มิถุนายน 2568 ที่อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ
โดยนางอุษาฯ กล่าวภายหลังการหารือว่า ได้รับมอบหมายให้นำแนวปฏิบัติของ 6 องค์กรสื่อประกอบด้วย สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย,สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย,สภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ,สภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย,สมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์ และสหภาพแรงงานกลางสื่อมวลชนไทย ที่ได้เคยออกแนวปฏิบัติไว้โดยเน้นในเรื่องสัญลักษณ์ปลอกแขน ที่ออกให้โดยศูนย์ประสานงานสื่อมวลชนในสถานการณ์การชุมนุม (ศปสช.) จัดตั้งขึ้นโดยองค์กรวิชาชีพสื่อมวลชนองค์กรวิชาชีพสื่อ 6 องค์กร ในการปฏิบัติหน้าที่พื้นที่ที่มีการชุมนุม ให้เจ้าหน้าที่ตำรวจได้รับทราบ  ว่า มีลักษณะ "สีฟ้า" ทาบด้วยตัวอักษรภาษาอังกฤษสีขาวว่า "PRESS" มีแถบสะท้อนแสงสีเทา ปลอกแขนจะมีตัวเลข (Serial Number) ที่บ่งบอกว่า เป็นนักข่าวสังกัดสำนักข่าวใด สามารถตรวจสอบความได้
ทั้งนี้ ปลอกแขนสำหรับสื่อมวลชนดังกล่าว ใช้ในการลงพื้นที่ทำข่าวการชุมนุมเป็นไปตามหลักสากลที่สื่อมวลชนหลายประเทศพึงใช้ที่ต้องการเสรีภาพในการทำข่าวการชุมนุม ผู้ปฏิบัติหน้าที่ที่ได้รับปลอกแขนไม่ได้มีสิทธิพิเศษมากกว่าบุคคลทั่วไป กรณีมีการใช้ปลอกแขนผิดจุดประสงค์ หรือกระทำผิดซึ่งหน้า ถือเป็นความผิดตามกฎหมายที่ต้องรับผิดชอบด้วยตัวเอง
จากการหารือกับกองบัญชาการตำรวจนครบาล (บชน.) ครั้งนี้ ได้แนวทางปฏิบัติร่วมกันดังนี้ โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจจะช่วยอำนวยความสะดวกให้สื่อมวลชนปฏิบัติหน้าที่รายงานข่าวของสื่อมวลชนได้อย่างอิสระ แต่หากมีเหตุการณ์เพิ่มระดับไม่ปลอดภัย จะมีการประกาศให้ทราบทุกครั้งก่อนปฏิบัติการในแต่ละขั้นตอนตามข้อบังคับของกฎหมาย ทาง บชน.ได้ขอให้ผู้ปฏิบัติหน้าที่รายงานข่าวการชุมนุม ต้องสวมปลอกแขนสื่อมวลชนที่ 6 องค์กรสื่อได้ออกให้ขณะปฏิบัติหน้าที่ เพื่อความชัดเจน
นางอุษาฯ กล่าวอีกว่า สำหรับสื่อมวลชนผู้ปฏิบัติหน้าที่ที่ยังไม่ได้ปลอกแขน ให้ทางสำนักงานต้นสังกัดตรวจสอบและขอตามหลักเกณฑ์ที่ 6 องค์กรสื่อได้กำหนดไว้แล้ว เพื่อการตรวจสอบตัวตนและป้องกันการแอบอ้าง ปัจจุบันนี้มีองค์กรสื่อมวลชนที่ได้ติดต่อ ลงทะเบียนและขอรับปลอกแขนไปแล้วจำนวน 995 ชิ้น 88 องค์กร ทั้งนี้อยากให้สำนักข่าวที่รับไปแล้ว สำรวจเพื่อเตรียมความพร้อมในการเข้าปฏิบัติหน้าที่และความปลอดภัยของบุคลากรในองค์กรสื่อเอง 
“กรณีที่มีการสูญหาย หรือชำรุดเสียหาย ต้นสังกัดนั้นๆ ต้องดำเนินการแจ้งความต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจ เพื่อลงบันทึกประจำวันไว้เป็นหลักฐาน และนำแจ้ง ศปสช. หรือสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ให้ทราบโดยทันที เพื่อป้องกันบุคคลผู้ไม่หวังดีนำปลอกแขนสัญลักษณ์สื่อไปใช้นอกเหนือจากการทำหน้าที่ของสื่อมวลชนในทำนองการกระทำผิดกฎมาย” นางอุษาฯ กล่าว
สำหรับสื่อมวลชนองค์กรใดที่ประสงค์ขอรับปลอกแขนให้สำนักข่าว/ต้นสังกัด ออกหนังสือรับรองการเป็นพนักงานของสื่อมวลชน ที่มีความจำเป็นลงพื้นที่รายงานข่าวการชุมนุม โดยมีรายละเอียดที่ต้องระบุ คือ ชื่อ นามสกุล ตำแหน่ง เบอร์โทรศัพท์ที่ติดต่อได้ อีเมล และไอดี Line ระบุในเอกสารรับรอง จัดส่งเอกสารทางอีเมล์สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย  tjareporter@gmail.com เพื่อผู้ปฏิบัติหน้าที่สื่อมวลชนจะได้รับความไว้วางใจจากเจ้าหน้าที่และผู้ร่วมชุมนุม ว่าเป็นผู้ที่เข้าไปทำหน้าที่ในฐานะสื่อมวลชนตามจริยธรรมวิชาชีพ ไม่ได้เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งส่วนใดของคู่ขัดแย้งไม่ว่าฝ่ายใดก็ตาม

No comments:

Post a Comment

Post Bottom Ad



Pages