‘ศุภชัย’ เปิดตัว "ภาคีเครือข่ายความร่วมมือการพัฒนาอุตสาหกรรมแบตเตอรี่มาตรฐาน - สำนักข่าวพิมพ์ไทย | www.phimthai.com

Breaking

Home Top Ad

Post Top Ad

Search This Blog

Saturday, July 6, 2024

‘ศุภชัย’ เปิดตัว "ภาคีเครือข่ายความร่วมมือการพัฒนาอุตสาหกรรมแบตเตอรี่มาตรฐาน

แบบสับเปลี่ยนได้สำหรับยานยนต์ไฟฟ้าขนาดเล็ก" หนุนอุตสาหกรรม EV ในประเทศ
เมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2567 : นายศุภชัย ใจสมุทร ที่ปรึกษารองนายกรัฐมนตรี (นายอนุทิน ชาญวีรกูล) เป็นประธานในพิธีเปิดตัว “ภาคีเครือข่ายความร่วมมือการพัฒนาอุตสาหกรรมแบตเตอรี่มาตรฐานแบบสับเปลี่ยนได้ สำหรับยานยนต์ไฟฟ้าขนาดเล็ก” ซึ่งจัดโดย สมาคมเทคโนโลยีระบบกักเก็บพลังงานไทย และเครือข่ายพันธมิตรภาครัฐและเอกชน ภายในงาน International Energy Storage Forum 2024 - TESTA Annual Symposium ครั้งที่ 4 
ณ ห้องประชุม MR 111 ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ กรุงเทพฯ โดยมีนายดนัยณัฏฐ์ โชคอำนวย ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม,ดร.สุมิตรา จรสโรจน์กุล ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีพลังงานแห่งชาติ (เอ็นเทค)
สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.),ดร.เกรียงศักดิ์ วงศ์พร้อมรัตน์ ผู้อำนวยการสถาบันยานยนต์,นายกฤษฎา อุตตโมทย์ นายกสมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย และ ดร.พิมพา ลิ้มทองกุล นายกสมาคมเทคโนโลยีกักเก็บพลังงานไทย เข้าร่วมการเปิดตัวครั้งนี้ ภาคีเครือข่ายนี้มีเป้าหมายหลักในการลดข้อจำกัดของการใช้งานแบตเตอรี่ในประเทศไทย ครอบคลุมประเด็นด้านราคา ความปลอดภัย และคุณภาพ โดยจะดำเนินการผ่านการพัฒนามาตรฐานกลางในด้านขนาด ระบบไฟฟ้า การเชื่อมต่อ และการสื่อสาร เพื่อยกระดับอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าของไทยสู่มาตรฐานสากล 
นายศุภชัย ใจสมุทร ที่ปรึกษารองนายกรัฐมนตรี (นายอนุทิน ชาญวีรกูล) กล่าวว่า รัฐบาลไทยโดย ท่านนายกรัฐมนตรี (นายเศรษฐา ทวีสิน) ได้มีนโยบายอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า (EV) โดยตั้งเป้าหมายให้ประเทศไทยเป็น EV Hub ที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของโลก เเละมีมาตรการส่งเสริม EV มุ่งเน้นไปที่การพัฒนาอุตสาหกรรมแบตเตอรี่ และ Supply Chain ที่เกี่ยวข้อง เพื่อสร้างอุตสาหกรรมใหม่ในประเทศ โดยทางรัฐบาลและกระทรวง (อว.) เล็งเห็นความสำคัญในเรื่องนี้ จึงได้ประกาศนโยบาย "อว. for EV" โดยมีเเนวทางการดำเนินการใน 3 เสาหลัก คือ 
1.EV-HRD พัฒนาบุคลากรด้าน EV
2.EV-Transformation เปลี่ยนผ่านหน่วยงานใน (อว.) ให้นำร่องใช้รถ EV แทนรถยนต์สันดาปภายใน (ICE) 
3.EV-Innovation ผลักดันการวิจัยพัฒนาเพื่อสร้างนวัตกรรมในห่วงโซ่คุณค่า (Value Chain) ของอุตสาหกรรม
EV ในประเทศ
โดยนายศุภชัยฯ ได้แสดงความยินดีกับการเปิดตัว “ภาคีเครือข่ายความร่วมมือการพัฒนาอุตสาหกรรมแบตเตอรี่มาตรฐานแบบสับเปลี่ยนได้ สำหรับยานยนต์ไฟฟ้าขนาดเล็ก” ที่ได้เริ่มต้นมาจากการดำเนินการโครงการนำร่องร่วมกัน
ของหน่วยงานในกระทรวง (อว.) คือ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี และมหาวิทยาลัยขอนแก่น ร่วมกับ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย และบริษัทเอกชนชั้นนำ ได้แก่ บริษัท เบต้า เอ็นเนอร์ยี่ โซลูชั่น จำกัด บริษัท จีพี มอเตอร์ (ประเทศไทย) จำกัด บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) บริษัท ไอ-มอเตอร์แมนูแฟคเจอริ่ง จำกัด บริษัท กริดวิซ (ประเทศไทย) จำกัด และบริษัท ยูเนี่ยนนิฟโก้ จำกัด จนนำมาสู่การขยายผลเป็นภาคีเครือข่ายระดับประเทศ และได้แสดงความเชื่อมั่นว่าด้วยจากความร่วมมือดังกล่าว จะผลักดันให้ประเทศ ก้าวไปสู่ความยั่งยืนทางด้านเทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อมเพื่อประโยชน์สูงสุดต่อประชาชนคนไทย
ด้าน นายดนัยณัฏฐ์ โชคอำนวย ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ได้กล่าวแสดงความยินดีกับการก่อตั้งภาคีนี้ โดยกระทรวงอุตสาหกรรม ซึ่งมีบทบาทหลักในรัฐบาลเพื่อขับเคลื่อนภารกิจสำคัญด้านอุตสาหกรรมแบตเตอรี่และยานยนต์ไฟฟ้าของประเทศ โดยกลไกของหน่วยงานในกระทรวงฯ อาทิ กรมโรงงานอุตสาหกรรม กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม และองค์กรอิสระภายใต้ความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน เช่น สถาบันยานยนต์ - ซี่งเป็นหนึ่งในสมาชิกก่อตั้งภาคีเครือข่ายนี้  มุ่งขับเคลื่อนภารกิจสำคัญด้านอุตสาหกรรมแบตเตอรี่และยานยนต์ไฟฟ้าของประเทศ โดยในส่วนของยานยนต์ กระทรวง (อก.) ได้มีการดำเนินการหลัก ได้เเก่ 
1.การจัดทำมาตรฐาน: มุ่งรองรับการตรวจสอบ รับรอง โดยเฉพาะด้านความปลอดภัย ผ่านมาตรฐานที่เกี่ยวข้อง เช่น มาตรฐานระบบขับเคลื่อน มาตรฐานระบบการประจุไฟฟ้า มาตรฐานแบตเตอรี่สำหรับยานยนต์ไฟฟ้าและจักรยานยนต์ไฟฟ้า มาตรฐานระบบการสื่อสารระหว่างยานยนต์ไฟฟ้ากับโครงข่ายไฟฟ้า มาตรฐานระบบเบรกของจักรยานยนต์ไฟฟ้า มาตรฐานชิ้นส่วนสำหรับดัดแปลงรถจักรยานยนต์ที่ใช้น้ำมันเป็นรถจักรยานยนต์ไฟฟ้า
2.การบริหารจัดการแบตเตอรี่ใช้แล้ว: กระทรวงฯ เป็นหน่วยงานหลักในการบริหารและจัดการแบตเตอรี่ใช้แล้ว รวมทั้งจัดทำแผนการบริหารและกำจัดซากแบตเตอรี่รถยนต์อย่างเหมาะสม
3.การสนับสนุนโครงสร้างพื้นฐาน : สนับสนุนโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็น เช่น ศูนย์ทดสอบยานยนต์ และ ยางล้อแห่งชาติ (ATTRIC)
4.การพัฒนาทักษะแรงงานเฉพาะทาง : พัฒนาทักษะแรงงานให้ตรงกับความต้องการของอุตสาหกรรม ผ่านหลักสูตรฝึกอบรม การศึกษา และการพัฒนาทักษะเฉพาะทาง โดยสถาบันยานยนต์ดำเนินโครงการเพิ่มผลิตภาพ 
เน้นการพัฒนาระบบรับรองความสามารถบุคลากรแบบต่อเนื่อง เพื่อรองรับอุตสาหกรรมยานยนต์แห่งอนาคต
ทั้งนี้ความร่วมมือจากทุกภาคส่วน เป็นพลังสำคัญที่ขับเคลื่อนให้ประเทศไทยประสบความสำเร็จอย่างมาก 
ในอุตสาหกรรมแบตเตอรี่และยานยนต์ไฟฟ้า ตัวอย่างที่ชัดเจน ดังต่อไปนี้
1.การเติบโตของผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้า: มีผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้ารายใหม่ ๆ เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้มีตัวเลือกที่หลากหลายและราคาที่แข่งขันได้ 
2.การพัฒนาเทคโนโลยีแบตเตอรี่: ประเทศไทยมีศักยภาพสูงในการพัฒนาเทคโนโลยีแบตเตอรี่ ด้วยความร่วมมือจากสถาบันวิจัย มหาวิทยาลัย และภาคเอกชน 
3.การขยายสถานีชาร์จยานยนต์ไฟฟ้า: จำนวนสถานีชาร์จยานยนต์ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ช่วยลดความกังวลเรื่องระยะทางและกระตุ้นการใช้งานยานยนต์ไฟฟ้า
ด้าน ดร.พิมพา ลิ้มทองกุล ประธานภาคีเครือข่ายความร่วมมือการพัฒนาอุตสาหกรรมแบตเตอรี่มาตรฐานแบบสับเปลี่ยนได้สำหรับยานยนต์ไฟฟ้าขนาดเล็ก เปิดเผยถึงที่มาของการจัดตั้งภาคี ที่ได้ริเริ่มมาจากความต้องการลดข้อจำกัดในการเปลี่ยนผ่านมอเตอร์ไซค์เครื่องยนต์สันดาปเป็นมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้า จึงได้เกิดความร่วมมือระหว่างหน่วยงานในกระทรวง (อว.) และหน่วยงานภาคเอกชนทั้ง 9 หน่วยงาน ดำเนินโครงการวิจัยใน “โครงการวิจัยและพัฒนาแพลตฟอร์ม แพ็กแบตเตอรี่มาตรฐานแบบสับเปลี่ยนสำหรับมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าเพื่อยกระดับอุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ในประเทศไทย” ด้วยการสนับสนุนทุนวิจัยจาก หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) ปี 2564 ซึ่งโครงการนี้เสร็จสิ้นสำเร็จไปเมื่อต้นปีนี้ โดยหนึ่งในผลลัพธ์หลักที่ได้คือ ข้อกำหนดของคุณลักษณะมาตรฐานสำหรับแพ็กแบตเตอรี่แบบสับเปลี่ยนได้สำหรับมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้า พร้อมต้นแบบทดสอบ ที่ผ่านการหารือร่วมกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียกว่าสองร้อยราย
จากผลงานและการตอบรับจากผลลัพธ์ของโครงการได้จุดประกายเล็กๆ ให้เกิดการขยายผลในระดับภาคีเครือข่ายที่กว้างขวางขึ้นในวันนี้ ในนาม “ภาคีเครือข่ายความร่วมมือการพัฒนาอุตสาหกรรมแบตเตอรี่มาตรฐานแบบสับเปลี่ยนได้สำหรับยานยนต์ไฟฟ้าขนาดเล็ก” มีเป้าหมายหลักในการลดข้อจำกัดของการใช้งานแบตเตอรี่ ในประเทศไทย ครอบคลุมประเด็นด้านราคา ความปลอดภัย และคุณภาพ ผ่านการพัฒนามาตรฐานกลางในด้านขนาด ระบบไฟฟ้า การเชื่อมต่อ และการสื่อสาร ให้เกิดตลาดและการพึ่งพาในประเทศภายในระยะเวลา 3 ปี เพื่อยกระดับอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าของไทยสู่มาตรฐานสากล และมุ่งหวังว่าภาคีที่ก่อตั้งขึ้นจากความร่วมแรงร่วมใจจากทุกภาคส่วนนี้ จะจุดประกายเล็กๆ ให้เกิดการขยายผล เกิดความร่วมมือระหว่างภาคการศึกษา ภาครัฐ และภาคเอกชน ก่อให้เกิดอุตสาหกรรมการผลิตและให้บริการยานยนต์สมัยใหม่ที่มีมาตรฐาน เพื่อสร้างความสามารถในการแข่งขันให้กับอุตสาหกรรม และสร้างความยั่งยืนให้กับประเทศไทยต่อไป

No comments:

Post a Comment

Post Bottom Ad



Pages