วช. ขับเคลื่อนงานวิจัย สร้างสังคมปลอดภัยและยั่งยืนเพื่อเด็กและเยาวชนไทย - สำนักข่าวพิมพ์ไทย | www.phimthai.com

Breaking

Home Top Ad

Post Top Ad

Search This Blog

Saturday, September 21, 2024

วช. ขับเคลื่อนงานวิจัย สร้างสังคมปลอดภัยและยั่งยืนเพื่อเด็กและเยาวชนไทย

เมื่อวันที่ 20 กันยายน 2567 สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) จัดการเสวนา เรื่อง “สร้างสังคมปลอดภัย เพื่อเด็กและเยาวชนไทยด้วยวิจัยและนวัตกรรม” เพื่อนำเสนอผลงานวิจัยและนวัตกรรมที่น่าสนใจและเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาเด็กและเยาวชนไทยให้เติบโตอย่างมีคุณภาพ โดยมี ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ เป็นประธานเปิดการเสวนา ณ ห้องโถงศูนย์สารสนเทศกลางด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม อาคาร วช. 8 และในรูปแบบออนไลน์ผ่านถ่ายทอดสด (Live Streaming) ผ่าน Facebook : สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ
ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (ผอ.วช.) กล่าวว่า (วช.) ให้ความสำคัญกับการพัฒนาเด็กและเยาวชนไทย โดยเห็นว่าเป็นหัวใจสำคัญในการสร้างการเติบโตและความมั่นคงให้ประเทศในอนาคต โดย (วช.) ได้สนับสนุนการวิจัยเพื่อแก้ไขปัญหาสังคมที่เด็กและเยาวชนกำลังเผชิญ เช่น ปัญหาความรุนแรงในครอบครัวและสังคม รวมถึงการส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม และทักษะชีวิตที่จำเป็น เพื่อให้เด็กเติบโตเป็นกำลังสำคัญของประเทศที่มีคุณภาพและสามารถปรับตัวเข้ากับการเปลี่ยนแปลงของสังคมได้อย่างเหมาะสม (วช.) เชื่อว่าการสร้างสภาพแวดล้อมที่ดี ทั้งในครอบครัว ชุมชน และสังคม จะช่วยให้เด็กสามารถพัฒนาศักยภาพได้อย่างเต็มที่ และเติบโตเป็นคนดีของสังคมที่มีความหลากหลาย ผลการวิจัยของ วช. สามารถนำไปประยุกต์ใช้เพื่อสร้างครอบครัวที่เข้มแข็งและสังคมที่ดีขึ้น ซึ่งจะเป็นเกราะคุ้มกันให้เด็กและเยาวชนได้เติบโตอย่างปลอดภัยและมีความสุข และในวันนี้ตรงกับวันเยาวชนแห่งชาติ (วช.) จึงได้จัดการเสวนาเพื่อส่งเสริมให้สังคมตระหนักถึงความสำคัญของการสร้างสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัยสำหรับเด็กและเยาวชน
ภายในงานยังมีการบรรยายพิเศษจาก รองศาสตราจารย์ ดร.สุมนทิพย์ จิตสว่าง จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในหัวข้อ “สถานการณ์ปัญหาของเด็กและเยาวชนไทยในปัจจุบันในมิติต่างๆ” ซึ่งได้กล่าวถึงสถานการณ์เด็กไทยในปัจจุบัน ที่น่าเป็นห่วงมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งปัญหาหลัก ได้แก่ เด็กออกจากโรงเรียนมากขึ้น ปัญหาจากโลกออนไลน์ อบายมุข แม่วัยใส ความรุนแรง สุขภาพจิต และการกระทำผิด โดยเฉพาะปัญหาอบายมุขที่เริ่มต้นในวัยเด็กมากขึ้น เช่น การดื่มสุราในวัย 8 ขวบ การพนันออนไลน์ และบุหรี่ไฟฟ้า นอกจากนี้ ปัญหาแม่วัยใสก็เป็นเรื่องเร่งด่วนที่ต้องแก้ไข เพราะมีเด็กหญิงไทยวัยรุ่นคลอดบุตรมากขึ้นถึง 3 เท่าใน 10 ปีที่ผ่านมา ปัญหาเหล่านี้เกิดจากปัจจัยหลายอย่าง ทั้งสังคม เศรษฐกิจ การศึกษา และสุขภาพ การแก้ไขปัญหาต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ ภาคเอกชน สถาบันการศึกษา ครอบครัว และชุมชน โดยต้องบูรณาการนโยบายและมาตรการต่าง ๆ เพื่อส่งเสริมการศึกษาคุณภาพ สร้างสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัย ดูแลสุขภาพกายใจ และเปิดโอกาสให้เด็กและเยาวชนมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาของตนเอง ซึ่งแผนงานวิจัยสังคมไทยไร้ความรุนแรง ที่ (วช.) ให้การสนับสนุนเป้นตัวอย่างของงานวิจัยที่ใช้แก้ปัญหาของเด็กและเยาวชน เป็นแนวทางที่สามารถนำไปปรับใช้ได้ในวงกว้าง เช่น การนำหลักธรรมทางพุทธศาสนามาใช้ในการป้องกันการกระทำผิด หรือการสร้างโรงเรียนต้นแบบเพื่อป้องกันการกลั่นแกล้ง ซึ่งองค์ประกอบที่สำคัญที่สุดในแนวทางนี้คือการตระหนักถึงบทบาทของเด็กและเยาวชน ในฐานะที่เป็นทรัพยากรมนุษย์ที่มีคุณค่าสูงสุดของประเทศ การพัฒนาเด็กและเยาวชนในมิติต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นในด้านปัญญา สังคม หรืออารมณ์ นับเป็นการลงทุนระยะยาวที่คุ้มค่า จะส่งผลให้เยาวชนเหล่านี้สามารถเติบโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่ที่มีจิตสำนึกทางสังคมที่เข้มแข็ง และมีความสามารถในการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน
นอกจากนี้ ยังมีการเสวนา เรื่อง “สร้างสังคมปลอดภัย เพื่อเด็กและเยาวชนไทยด้วยวิจัยและนวัตกรรม” ซึ่งมีประเด็นดังนี้ 

- “คิดก่อนทำ เติมพลังฮึบ!! สร้างคุณนะทำดี” โดย ดร.กนกพร ดอนเจดีย์ จากมหาวิทยาลัยมหิดล ที่มุ่งเน้นการสร้างวินัยและจริยธรรมในเด็กและเยาวชน 

- “เด็กแกร่งด้วยความเข้มแข็งของครอบครัว” โดย รองศาสตราจารย์ ดร.อาภาพร เผ่าวัฒนา จากมหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งชี้ให้เห็นบทบาทสำคัญของครอบครัวที่เป็นรากฐานของการพัฒนาความสามารถและความมั่นคงทางจิตใจของเด็ก 

- “Child Shield: เกราะคุ้มภัยของเยาวชน” โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พิจิตรพงศ์ สุนทรพิพิธจากมหาวิทยาลัยมหิดล และ สมาคมวิศวกรรมชีวการแพทย์ไทย ที่นำเสนอแนวคิดนวัตกรรมและเทคโนโลยีเพื่อปกป้องเด็กจากภัยอันตรายที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในปัจจุบัน

การเสวนาครั้งนี้ ถือเป็นเวทีให้นักวิชาการ นักวิจัย และผู้ที่เกี่ยวข้องได้ร่วมกันแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและนำเสนอผลงานวิจัยที่น่าสนใจ เพื่อหาแนวทางในการสร้างสังคมที่ปลอดภัยสำหรับเด็กและเยาวชนไทยอย่างยั่งยืน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับครอบครัวและการพัฒนานวัตกรรมเพื่อปกป้องเด็กจากภัยอันตรายต่างๆ




No comments:

Post a Comment

Post Bottom Ad



Pages