ปีนี้ ไม้ผลภาคใต้ 4 ชนิด ผลผลิตรวม 6.9 แสนตัน ผลผลิตในฤดูออกสู่ตลาดแล้ว ร้อยละ 77 - สำนักข่าวพิมพ์ไทย | www.phimthai.com

Breaking

Home Top Ad

Post Top Ad

Search This Blog

Tuesday, September 3, 2024

ปีนี้ ไม้ผลภาคใต้ 4 ชนิด ผลผลิตรวม 6.9 แสนตัน ผลผลิตในฤดูออกสู่ตลาดแล้ว ร้อยละ 77

นายนิกร แสงเกตุ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 8 สุราษฎร์ธานี (สศท.8) สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยถึงผลสรุปข้อมูลเอกภาพไม้ผลภาคใต้ ปี 2567 (ข้อมูล ณ 6 สิงหาคม 2567) ซึ่ง สศก. โดย สศท.8 สศท.9 และสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 5 (สสก.5) ร่วมกับคณะทำงานย่อยเพื่อพัฒนาระบบข้อมูลและโลจิสติกส์ภาคใต้ สรุปตัวเลขเอกภาพปริมาณผลผลิตของไม้ผลภาคใต้ 4 ชนิด ได้แก่ ทุเรียน มังคุด เงาะ และลองกอง ในพื้นที่ 14 จังหวัด (ชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช กระบี่ พังงา ระนอง ภูเก็ต ตรัง พัทลุง สงขลา สตูล ยะลา ปัตตานี และนราธิวาส) คาดว่า ปีนี้ ผลผลิตรวมทั้งในฤดูและนอกฤดู จำนวน 699,235 ตัน (ในฤดู 592,637 ตัน นอกฤดู 106,598 ตัน) ลดลงจากปี 2566 ที่มีจำนวน 848,094 ตัน หรือ ลดลงร้อยละ 18 โดย ทุเรียน มีจำนวน 526,005 ตัน ลดลงร้อยละ 14 มังคุด มีจำนวน 110,390 ตัน ลดลงร้อยละ 26 เงาะ มีจำนวน 40,105 ตัน ลดลงร้อยละ 25 และลองกอง มีจำนวน 22,735 ตัน ลดลงร้อยละ 33 ภาพรวมผลผลิตลดลง เนื่องจากสภาพอากาศร้อนและแล้งมากตั้งแต่เดือนมกราคมเป็นต้นมา ดอกและผลร่วง บางพื้นที่เกษตรกรชาวสวนทุเรียนต้องตัดผลทุเรียนทิ้งเพื่อรักษาต้นทุเรียนไว้ ส่งผลให้ผลผลิตต่อไร่ลดลงตามไปด้วย
สำหรับผลผลิตในฤดูของไม้ผลทั้ง 4 ชนิด จะออกสู่ตลาดเดือนมิถุนายน–ตุลาคม 2567 และผลผลิตนอกฤดู จะออกสู่ตลาด 2 ช่วง คือ เดือนมกราคม-พฤษภาคม 2567 และเดือนพฤศจิกายน-ธันวาคม 2567 ซึ่งขณะนี้เป็นช่วงผลผลิตในฤดูทยอยออกสู่ตลาด โดยผลผลิตตั้งแต่เดือนมิถุนายน–สิงหาคม 2567 ออกสู่ตลาดไปแล้ว จำนวน 453,682 ตัน หรือร้อยละ 77 ของผลผลิตในฤดูทั้งหมด ซึ่ง ทุเรียน ออกสู่ตลาดไปแล้ว จำนวน 352,813 ตัน หรือร้อยละ 83 ของผลผลิตในฤดูทั้งหมด มังคุด ออกสู่ตลาดไปแล้ว จำนวน 63,550 ตัน หรือร้อยละ 61 ของผลผลิตในฤดูทั้งหมด เงาะ ออกสู่ตลาดไปแล้ว จำนวน 33,261 ตัน หรือร้อยละ 86 ของผลผลิตในฤดูทั้งหมด และลองกอง ออกสู่ตลาดไปแล้ว จำนวน 4,058 ตัน หรือร้อยละ 18 ของผลผลิตในฤดูทั้งหมด
อย่างไรก็ตาม เนื่องจาก สภาพอากาศแปรปรวน อาจส่งผลให้ปริมาณผลผลิตไม้ผลเปลี่ยนแปลงลดลงทั้งในช่วงในฤดูและนอกฤดูที่จะมาถึงในอีก 2 เดือนข้างหน้า การวางแผนในเรื่องของการจัดหาแหล่งน้ำในอนาคตให้เพียงต่อความต้องการของผลไม้นับเป็นปัจจัยสำคัญต่อปริมาณและคุณภาพผลไม้ เพื่อรองรับความไม่แน่นอน ความแปรปรวนของสภาพอากาศ โดยเฉพาะทุเรียน จึงเป็นสิ่งสำคัญที่ต้องคำนึงและมีการวางแผนสำหรับการลงทุนในระยะยาวต่อไป ท่านที่สนใจข้อมูลไม้ผลภาคใต้สามารถสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ สศท.8 โทร. 0 7731 1641 หรืออีเมล zone8@oae.go.th


ตารางไม้ผลภาคใต้ 4 ชนิด ปี 2566 และ ปี 2567


No comments:

Post a Comment

Post Bottom Ad



Pages