นายแพทย์รุ่งเรือง กิจผาติ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์บริการ รรท. เลขาธิการสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ (ปส.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เปิดเผยภายหลังร่วมบรรยายพิเศษในหัวข้อ “ความก้าวหน้าด้านกฎหมายและมาตรฐานต่างๆ เพื่อรองรับการพัฒนาเทคโนโลยี SMR ในประเทศไทย“ บนเวทีสัมมนาระดับชาติ “A Global Dialogue on SMR Deployment” ในวันที่ 16 กรกฎาคม 2568 จัดขึ้นโดย บริษัท ราช กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ร่วมกับ บริษัท สหพัฒนาอินเตอร์โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) ณ ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ว่า ภายใต้นโยบายของกระทรวง (อว.) ที่มุ่งขับเคลื่อนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีขั้นสูงสู่การพัฒนาประเทศชาติอย่างยั่งยืน (ปส.) ในฐานะหน่วยงานด้านการกำกับดูแลความปลอดภัยทางนิวเคลียร์และรังสีของประเทศไทย ซึ่งมีความสำคัญในการร่วมเตรียมความพร้อมอย่างรอบด้านในการรองรับโรงไฟฟ้านิวเคลียร์มาตรฐานปลอดภัยขนาดเล็ก (Small Modular Reactor: SMR) เพื่อเสริมความมั่นคงด้านพลังงาน และเป็นทางเลือกสำคัญในการเปลี่ยนผ่านสู่สังคมคาร์บอนต่ำของไทย โดยงานนี้ได้รับเกียรติจากนายประเสริฐ สินสุขประเสริฐ ปลัดกระทรวงพลังงาน เป็นประธานและองค์ปาฐกพิเศษในหัวข้อ “อนาคตของความมั่นคงทางพลังงาน” และผู้ทรงคุณวุฒิด้าน SMR มาร่วมให้ข้อมูลและแลกเปลี่ยนประสบการณ์มากมาย ได้แก่ มส.ชาลอต นิโคลส์ สมาชิกรัฐสภาอังกฤษและประธานร่วมกลุ่มสมาชิกรัฐสภาว่าด้วยพลังงานนิวเคลียร์ สหราชอาณาจักร มร.ไซมอน สตัทฟอร์ด ผู้บริหารระดับสูง Castletown Law จากสหราชอาณาจักร มร.โทรุ อิโตะ ผู้จัดการทั่วไป ฝ่ายจัดการโครงการ บริษัท ฮิตาชิ-จีอี เวอร์โนวา นิวเคลียร์ เอ็นเนอร์ยี่ จำกัด มร.เฉิน ฟางจุน ผู้แทนประจำประเทศไทย มาเลเซีย และเวียดนาม บริษัท ไชน่า เนชั่นแนล นิวเคลียร์ คอร์ปอเรชั่น และ มร.อเล็กซิส ออนเนอร์ ผู้จัดการฝ่ายพัฒนาธุรกิจ โรลส-รอยส์ SMR
นายแพทย์รุ่งเรืองฯ กล่าวต่อไปว่า (ปส.) พร้อมสนับสนุนการศึกษาความเป็นไปได้ของ SMR อย่างรอบด้าน และร่วมวางรากฐานการเตรียมความพร้อม ทั้งด้านบุคลากร มาตรฐานความปลอดภัย และกลไกบริหารจัดการร่วมกับภาคีที่เกี่ยวข้อง โดย (ปส.) มีบทบาทสำคัญในการดำเนินงานตามกฎหมาย มาตรฐาน และระบบการกำกับดูแลความปลอดภัยทางนิวเคลียร์และรังสี ทั้งในภาวะปกติและภาวะฉุกเฉิน ซึ่งได้รับการยอมรับในระดับสากล โดยในเวทีสัมมนาดังกล่าว (ปส.) ได้แสดงจุดยืนอย่างชัดเจนว่า ประเทศไทยสามารถขับเคลื่อนการใช้ SMR ได้ หากมีการดำเนินงานที่สอดคล้องกับ 4 ปัจจัยหลัก ได้แก่
1. การสร้างความเข้าใจและการยอมรับของประชาชนและภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง
2. การรบริหารความมั่นคงและความต่อเนื่องเชิงนโยบาย
3. เตรียมความพร้อมระดับชาติและระดับพื้นที่
4. จัดให้มีกลไกบริหารจัดการร่วมที่ดี ระหว่างภาครัฐ เอกชน และประชาสังคม
“โรงไฟฟ้านิวเคลียร์มาตรฐานปลอดภัยขนาดเล็ก หรือ SMR ไม่ใช่เรื่องไกลตัวอีกต่อไป แต่เป็นเรื่องที่ไทยต้องร่วมมือและบูรณาการอย่างเป็นระบบ ด้วยข้อมูลทางวิชาการและความโปร่งใส โดยมีประชาชนเป็นที่ตั้ง เพื่อวางรากฐานที่มั่นคงให้กับระบบพลังงานของประเทศไทยในอนาคต“ นายแพทย์รุ่งเรืองฯ กล่าวทิ้งท้าย
โดยภายในงานนี้ ได้รับเกียรติจากบุคคลสำคัญในแวดวงพลังงานและอุตสาหกรรมเข้าร่วมอย่างคับคั่ง โดยมี
• นายประเสริฐ สินสุขประเสริฐ ปลัดกระทรวงพลังงาน ให้เกียรติเป็นประธานในพิธี พร้อมกล่าวปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ “อนาคตของความมั่นคงทางพลังงาน”
• นายวิชัย กุลสมภพ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท สหพัฒนาอินเตอร์โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) ให้เกียรติกล่าวต้อนรับ
• นายนิทัศน์ วรพนพิพัฒน์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ราช กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ให้เกียรติกล่าวถึงวัตถุประสงค์ของงานดังกล่าว
No comments:
Post a Comment